นอนอย่างไรให้ไม่แก่
ปัจจุบันผู้คนมีวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การทำงาน หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ทำในช่วงเวลากลางคืนมากขึ้น จนเริ่มละเลยการพักผ่อนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้ผู้คนนอนน้อยลงแล้วเจ็บป่วยกันง่ายขึ้น อารมณ์ไม่คงที่ สมาธิสั้น และยังทำให้ดูแก่เร็วกว่าวัยอีกด้วย
ความสำคัญของการนอนหลับที่ดี
การนอนหลับคือการพักผ่อนที่ร่างกายจะอยู่ในสภาวะหยุดการรับรู้ของสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของทุกวันเพื่อการนอนหลับ อันเป็นช่วงเวลาเพื่อการพักผ่อนที่ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ร่างกายจะซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งปรับสมดุลของระบบฮอร์โมนภายในร่างกายนอกจากนี้ร่างกายจะผลิตสารสำคัญอย่างเช่นโกรทฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันกับการซ่อมแซมร่างกาย และสารเมลาโทนินที่ทำหน้าที่ควบคุมการนอนหลับ ซึ่งช่วยลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลงอีกด้วย
โกรทฮอร์โมนต้านความแก่
ขณะที่เรากำลังนอนหลับสนิทช่วงเวลากลางคืนนั้น ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormones) ออกมา แต่จะหยุดหลั่งในยามตื่นหรือนอนหลับไม่สนิท โดยเฉพาะช่วงเวลา 22.30 – 23.30 น. ร่างกายจะผลิตสารโกรทฮอร์โมนออกมาอย่างเต็มที่ มากกว่าผู้ที่นอนหลังเที่ยงคืนหรืออดหลับอดนอนเป็นประจำโกรทฮอร์โมนที่ว่านี้อาจจะเรียกว่า “ฮอร์โมนชะลอความแก่” หรือ “ฮอร์โมนความอ่อนเยาว์” ก็ได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่อายุน้อยๆ จะมีปริมาณฮอร์โมนชนิดนี้เยอะตามวัยอยู่แล้ว แต่หากมีอายุ 30 ปีขึ้นไปและเริ่มอดนอน โกรทฮอร์โมนจะผลิตน้อยลงอย่างรวดเร็วจนกระทั่งร่างกายไม่ผลิตฮอร์โมนชนิดนี้อีกต่อไปเมื่อมีอายุ 60 ปี จึงอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โกรทฮอร์โมนมีความสำคัญต่อความแก่นั่นเอง
เคล็ดลับการนอนหลับให้แก่ช้า
- ควรจัดเวลาการนอนให้เหมาะสมแล้วเข้านอนให้ตรงเวลาทุกวัน โดยควรนอนหลับอย่างน้อยวันละ 7 – 8 ชั่วโมงและเข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่ม เพื่อให้ร่างกายได้หลั่งโกรทฮอร์โมนออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ
- เลือกที่นอนและหมอนให้เหมาะสมกับสรีระของร่างกาย อีกทั้งควรซักปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนเปลี่ยนทุกสัปดาห์ จะช่วยลดการสะสมของไรฝุ่นที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดสิวหรือผื่นผิวหนัง
- สร้างบรรยากาศในห้องให้เหมาะแก่การนอนหลับเท่านั้น อุณหภูมิต้องเย็นพอดี ไม่มีเสียงใดๆ รบกวน ห้องควรมืดสนิท และไม่นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ตั้งไว้ในห้องนอน
- การนอนหลับด้วยท่านอนหงายนั้นดีต่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นท่าที่จะไม่มีอะไรมากดทับบริเวณหน้าอก ซึ่งมีผลต่อระบบทางเดินหายใจให้คล่องตัวยิ่งขึ้น และยังช่วยให้กระดูกสันหลังวางตัวตามแนวธรรมชาติได้ดี อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้าจากแรงกดทับเช่นเดียวกับการนอนตะแคงหรือนอนคว่ำหน้า
สิ่งสำคัญคือควรผ่อนคลายความเครียดก่อนเข้านอนเสมอ ไม่ทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเคร่งเครียดหรือรู้สึกตื่นเต้น พร้อมกับหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้ร่างกายตื่นตัวอย่างเช่นกาแฟและน้ำอัดลม จะช่วยให้เรานอนหลับอย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้โกรทฮอร์โมนทำงานได้ดีแล้วเราก็จะแลดูอ่อนเยาว์แก่ช้ากว่าอายุจริงได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง
ดร.นิตยา ตรีศิลป์วิเศษ และ รศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล. (No Date) การนอนเพื่อชะลอวัยและเพื่อสุขภาพ. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2561, จาก www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/118/การนอนเพื่อชะลอวัยและเพื่อสุขภาพ/
By Wan. (2560) การนอนอย่างไรให้ไม่แก่และสดชื่น ตอนที่ 1. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2561, จาก http://truehitz.com/health/archives/145
By Wan. (2560) การนอนอย่างไรให้ไม่แก่และสดชื่น ตอนที่ 2. สืบค้นเมื่อ 31 ตุลาคม 2561, จาก http://truehitz.com/health/archives/147
Posting Komentar
Posting Komentar