ทำไมต้องวอร์มอัพและคูลดาวน์

Posting Komentar

ทำไมต้องวอร์มอัพและคูลดาวน์


    หากเราเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบหรือสนใจการออกกำลังกาย ควรจะจดจำและทำความรู้จักกับการวอร์มอัพกับคูลดาวน์ เพราะจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บของร่างกายและกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดจากการออกกำลังกายได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังการออกกำลังกายก็ตาม


วอร์มอัพและคูลดาวน์คืออะไร

    วอร์มอัพ (warm – up) คือการอบอุ่นร่างกายเบื้องต้น โดยทำการยืดเส้นยืดสายกล้ามเนื้อตามอวัยวะของร่างกายอย่างเช่นศีรษะ แขน ขา และข้อต่อต่างๆ แล้ววิ่งเหยาะๆ ประมาณ 5 – 15 นาที ก็จะพร้อมสำหรับการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาในลำดับต่อไป
    คูลดาวน์ (cool – down) มีลักษณะการปฏิบัติเช่นเดียวกับการวอร์มอัพ แต่จะปฏิบัติหลังจากที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเสร็จเรียบร้อยแล้วนั่นเอง เพื่อช่วยให้ร่างกายปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ

ความสำคัญของการวอร์มอัพ

    สำหรับการวอร์มอัพหรืออบอุ่นร่างกายนั้น เป็นการเตรียมร่างกายให้มีสภาพที่พร้อมจะออกกำลังกาย ด้วยวิธีเคลื่อนไหวให้อุณหภูมิภายในร่างกาย อุณหภูมิกล้ามเนื้อ รวมทั้งปริมาณเลือดที่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อให้เพิ่มสูงมากขึ้น โดยอาจจะเริ่มต้นด้วยการเดินช้าๆ แล้วเพิ่มความเร็วมากขึ้นจนกระทั่งชีพจรเต้นจาก 70 ครั้งต่อนาที เป็น 100 – 110  ครั้งต่อนาที
    การวอร์มอัพที่ดีต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 – 10 นาที เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อและเอ็นข้อต่อที่ใช้เคลื่อนไหวให้พร้อม เป็นการป้องกันและช่วยลดอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเราจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
  • การอบอุ่นร่างกาย ช่วยให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น
  • การยืดกล้ามเนื้อและเอ็นข้อต่อ นอกจากจะช่วยทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้สะดวก และลดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อได้อีกทางหนึ่งด้วย


ความสำคัญของการคูลดาวน์

 

 

    การคูลดาวน์หรือผ่อนร่างกายหลังออกกำลังกาย เป็นการช่วยปรับสภาพร่างกายให้เข้าสู่สภาพปกติ เนื่องจากถ้าเราออกกำลังกายแล้วหยุดทันที จากอัตราการเต้นของหัวใจ 130 – 140 ครั้งต่อนาที แล้วกลับมาเต้น 70 ครั้งต่อนาที ในช่วงเวลาสั้นๆ จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
    สาเหตุที่เป็นอันตรายเช่นนี้ก็คือหัวใจและปอดปรับตัวไม่ทัน จนกระทั่งส่งผลให้เลือดไหลเวียนกลับสู่หัวใจน้อยลง เพราะเลือดยังคั่งค้างอยู่ภายในกล้ามเนื้อ ทำให้ปริมาณเลือดที่ไหลเวียนออกจากหัวใจไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ น้อยลง โดยเฉพาะสมองที่จะก่อให้เกิดอาการหน้ามืดหรือเป็นลม แต่ถ้าเราคูลดาวน์อย่างน้อย 5 – 10 นาทีหลังออกกำลังกาย ชีพจรจะค่อยๆ ลดลงจนเป็นปกติ รวมทั้งกล้ามเนื้อผ่อนคลายและลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างปลอดภัย

    นอกจากนี้การคูลดาวน์ยังช่วยนำของเสียหรือกรดแล็กติกที่เกิดขึ้นขณะออกกำลังกายออกจากกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นการลดอาการปวดเมื่อยหรือการฉีกขาดของกล้ามเนื้อให้น้อยลง ทำให้การออกกำลังกายของเรานั้นมีประสิทธิภาพที่ดีและปลอดภัย เสริมสมรรถภาพให้ร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น



ข้อมูลอ้างอิง

Siam Sport Talk.com. (No date) วอร์มอัพกับคูลดาวน์ มีดียังไงมาดูกัน. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2561, จาก http://www.siamsporttalk.com/th/entertainment/health-articles/355-warm-up-with-cooldown-how-good-are-you.html
teambeyond. (2560) WARM UP & COOL DOWN ช่วยลดอาการบาดเจ็บ จะวิ่งจะออกกำลังกายไม่ควรละเลย. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2561, จาก http://www.teambeyondsport.com/warm-up-cool-down/
fit-a-holic เปลี่ยนชีวิต ให้ฟิตไปกับเรา. (2557) Warm up และ Cool down สำคัญแค่ไหน ทำไมคนชอบพูดถึง ไม่ทำได้มั้ย (1). สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2561, จาก https://fitaholicblog.wordpress.com/2014/11/05/warm-up-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0-cool-down-%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99-%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%99/

Related Posts

Posting Komentar