ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการลดความอ้วน

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการลดความอ้วน

 

 


    ปัจจุบันผู้หญิงเราหันมาใส่ใจในการดูแลรูปร่างกันมากขึ้น จึงก่อให้เกิดวิธีลดความอ้วนหรือวิธีลดน้ำหนักต่างๆ อย่างมากมาย จนกระทั่งกลายเป็นความเชื่อผิดๆ ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เราอ้วนมากขึ้นแทน ดังนั้นเรามาดูกันว่ามีความเชื่อผิดๆ แบบใดบ้างและมีข้อเท็จจริงอย่างไร

ต้องกินให้น้อยที่สุดหรืออดอาหาร

    ข้อเท็จจริง เราควรควบคุมปริมาณพลังงานที่ได้รับจากอาหารแทนการอดอาหารเพื่อให้ร่างกายมีพลังงานใช้ในการเผาผลาญไขมันเก่ามากกว่าพลังงานจากอาหารที่รับประทานเข้าไปใหม่

กินอาหารเฉพาะเวลาที่รู้สึกหิว

    ข้อเท็จจริง ร่างกายที่อดอาหารเป็นระยะเวลานานๆ จะกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลทำให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารประเภทน้ำตาลและไขมัน ดังนั้นเราจึงควรรับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ ให้ตรงเวลาจะดีกว่าเมื่อรู้สึกหิว

งดกินแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต

    อันที่จริงแล้วอาหารประเภทแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตนั้นไม่ใช่สาเหตุหลักๆ ของน้ำหนักส่วนเกินหรือความอ้วน เพราะเรายังคงสามารถรับประทานแป้งและคาร์โบไฮเดรตได้ทั้งในมื้อเช้าและมื้อเที่ยง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต แป้งโฮลวีท เป็นต้น แต่ก็ควรจำกัดปริมาณในมื้อเย็นให้น้อยลงแล้วเน้นกลุ่มโปรตีนกับผักผลไม้แทน

รับประทานเฉพาะผักผลไม้เท่านั้น

    จริงๆ แล้วสิ่งสำคัญของการลดความอ้วนคือควบคุมปริมาณพลังงานของอาหารที่ได้รับไม่ให้มากกว่าที่ใช้ในแต่ละวัน อีกทั้งต้องไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราจึงควรรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการให้ครบทั้ง 5 หมู่ แต่เน้นผักผลไม้เพื่อให้รู้สึกอิ่มเร็ว อิ่มนาน และช่วยในด้านระบบขับถ่าย


เนื้อสัตว์ไม่ทำให้อ้วน

    อาหารประเภทโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ใช่สาเหตุของโรคอ้วน แต่การที่เรารับประทานเนื้อสัตว์ที่มีชั้นไขมันแทรกในปริมาณมากๆ จะทำให้ได้รับพลังงานมากเกินไป ดังนั้นเราจึงควรเลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำอย่างเช่นอกไก่ สันในหมู และไข่ขาวต้ม เป็นต้น

งดกินไขมันทุกชนิด

    ไขมันเป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่จำเป็นเพราะให้ทั้งพลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกายของเรา พร้อมกับช่วยรักษาสมดุลภายในร่างกาย โดยเฉพาะไขมันชนิดดีที่มีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจหรือโรคอัลไซเมอร์ เรียกว่ารับประทานไขมันดีแล้วจะดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน

ฉลากอาหารที่ระบุว่าไขมันต่ำหรือ 0% คือไม่มีแคลอรี

    ถึงแม้ว่าการที่เรารับประทานอาหารไขมันต่ำหรือระบุว่าไม่มีไขมันเลย อาจจะช่วยให้ได้รับพลังงานน้อยกว่าการรับประทานตามปกติก็จริง แต่อาหารไขมันต่ำบางชนิดกลับมีการดัดแปลงใส่แป้ง น้ำตาล หรือเกลือเพิ่ม เพื่อช่วยให้รสชาติดีขึ้นหลังจากที่ลดไขมันออกไป

    นอกจากนี้อาหารมังสวิรัติบางเมนูก็ให้พลังงานสูง รวมทั้งยังไม่มีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่สนับสนุนว่า สามารถช่วยลดความอ้วนได้ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพียงอย่างเดียว ดังนั้นวิธีลดความอ้วนที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพคือต้องควบคุมอาหาร พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม น่าจะเป็นทางออกของการมีรูปร่างดีไปพร้อมกับสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนด้วยค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง

Bangkok Hospital. (No date) ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการลดความอ้วน. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2561, จาก http://www.bangkokhospital.com/index.php/th/health-tips/weight-loss-myths-and-facts
Sanook. (2560) 7 ความเชื่อผิดๆ ยอดฮิตของการลดน้ำหนัก. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2561, จาก www.sanook.com/health/3765/
Fit Me Shape. (No Date) 5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการลดน้ำหนัก. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2561, จาก www.fitmeshape.com/16290415/5-ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก
Nicha S. (2559) 5 ความเชื่อผิดๆ แค่คิดก็อ้วนแล้ว. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2561, จาก http://goodlifeupdate.com/healthy-body/health-education/20583.html

Related Posts

Posting Komentar